เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง KPSN เผยแพร่แถลงการณ์เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก “ผู้ลี้ภัยในค่ายพักตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความอยู่รอด” เผยค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า ถูกตัดงบอาหารและสาธารณสุข เหลือค่าอาหาร 176 บาทต่อคนต่อเดือน โดยขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตและจัดระบบให้ผู้ลี้ภัยทำงานนอกค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่าผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และสามารถเป็นกำลังแรงงานสำคัญของประเทศไทยได้
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง เผยแพร่แถลงการณ์เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก “ผู้ลี้ภัยในค่ายพักตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความอยู่รอด” เผยสถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า อยู่ในภาวะลำบากหลังถูกตัดงบประมาณด้านอาหารโดยในเดือนมิถุนายนได้รับงบประมาณ 176 บาทต่อคนต่อเดือน (หรือ 5.86 บาทต่อคนต่อวัน) รวมทั้งถูกตัดงบด้านสาธารณสุขในค่าย ทั้งนี้แม้ชุมชนรอบค่ายต้องการแรงงาน แต่การออกไปทำงานมีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมลงโทษ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตและจัดระบบให้ผู้ลี้ภัยสามารถออกไปทำงานนอกค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย
พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจจากนานาชาติคงระดับการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านอาหาร บริการสุขภาพ และการศึกษา ไว้ในเบื้องต้น โดยประเมินความต้องการและความเหมาะสมในการลดระดับความช่วยเหลือร่วมกับรัฐบาลไทยและคณะกรรมการผู้ลี้ภัย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาความช่วยเหลือไปสู่การพึ่งพาตนเองเกิดขึ้นได้จริง โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
KPSN เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพกะเหรี่ยง
แถลงการณ์เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2568
ผู้ลี้ภัยในค่ายพักตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความอยู่รอด
ผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนแปดพันคนในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความอยู่รอด จากงบประมาณสนับสนุนด้านอาหารและบริการสุขภาพของแหล่งทุนถูกตัดลงมหาศาล
นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2568 งบประมาณสนับสนุนด้านอาหารถูกตัดลงเหลือเพียง 77 บาท (2.33 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคน (ผู้ใหญ่) ต่อเดือน แม้จะมีการปรับเพิ่มเป็น 176 บาท (5.33 ดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังไม่มีหลักประกันว่าจะมีความช่วยเหลือหลังจากเดือนกรกฎาคมหรือไม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยเผชิญกับสถานการณ์ที่แหล่งทุนต่างๆ ปรับลดการสนับสนุนลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2567 งบประมาณด้านอาหารได้ลดเหลือเพียง 324 บาท (9.8 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคน (ผู้ใหญ่) ต่อเดือน การลดความช่วยเหลือลงอย่างฉับพลัน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ลี้ภัยเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับลดทอนงบประมาณด้านบริการสุขภาพในค่ายฯ ได้เพิ่มภาระทางการเงินให้กับผู้ลี้ภัยมากขึ้นไปอีก
ความท้าทายหลักประเด็นหนึ่งคือ ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากค่ายเพื่อทำงานหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้จะมีความต้องการแรงงานจากชุมชนที่อยู่รายรอบค่ายฯ แต่ผู้ลี้ภัยไม่สามารถออกจากค่ายฯ เพื่อมาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการเสี่ยงออกมาทำงานเพื่อความอยู่รอดนั้นต้องแลกกับการถูกจับกุมและลงโทษได้เสมอ
ขณะนี้ แม้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จะสามารถกลับมาควบคุมพื้นที่ติดชายแดนไทยได้อย่างกว้างขวางอีกครั้ง การสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่ ตลอดจนการโจมตีทางอากาศและด้วยอาวุธหนักของสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) ต่อชุมชนพลเรือน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ลี้ภัยยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานได้อย่างปลอดภัย เราขอยืนยันว่า ผู้ลี้ภัยเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และสามารถเป็นกำลังแรงงานสำคัญของประเทศไทยได้
เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตและจัดระบบให้ผู้ลี้ภัยสามารถออกไปทำงานนอกค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจจากนานาชาติคงระดับการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านอาหาร บริการสุขภาพ และการศึกษา ไว้ในเบื้องต้น โดยประเมินความต้องการและความเหมาะสมในการลดระดับความช่วยเหลือร่วมกับรัฐบาลไทยและคณะกรรมการผู้ลี้ภัย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาความช่วยเหลือไปสู่การพึ่งพาตนเองเกิดขึ้นได้จริง
ทั้งนี้ เราขอเสนอให้รัฐบาลไทยเปิดทางให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงการศึกษาภาษาไทยและการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อที่เด็กและเยาวชนจะได้เป็นทรัพยากรมนุษย์หรือกำลังแรงงานที่มีคุณภาพของสังคมไทยได้ต่อไป
แหล่งที่มาของข่าว : https://prachatai.com/journal/2025/06/113411